ทราเวลช้อยส์ ตอนที่ 1 ยี่สาร-บางตะบูน

รายการท่องเที่ยวเกี่ยวกับการเดินทางกรุงเทพสู่ยี่สาร-บางตะบูน

วันนี้  Travel  Choice…  อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว  จะเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเส้นทางใหม่  ที่จะมาเติมเต็มความสุขให้ชีวิตคุณ  กับ  “เขายี่สาร”  ชุมชนโบราณ ในอำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงครามกันค่ะ  จริงจริงแล้วการเดินทางสู่ชุมชน  เขายี่สาร  เราสามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง

          ทางรถยนต์ ใช้ถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 35 ตามเส้นทางไปเพชรบุรี  ประมาณกิโลเมตรที่ 72 จะเห็นปั้มน้ำมัน ปตท.1 เลี้ยวซ้าย ตามป้ายบอกทางเขายี่สาร ตรงเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร

  • รถโดยสาร สามารถเดินทางโดยรถสองแถว สายแม่กลอง คลองตะบูน มีรถออกตลอดวัน จากตัวตลาดในอำเภอเมืองสมุทรสงคราม

ทางเรือ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ ลงเรือจากฝั่งแม่น้ำบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อล่องเข้าสู่แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยล่องเรือไปตามคลองขุดดอนจั่น  เข้าคลองบางลี่หรือคลองประชาชมชื่น ก็จะออกไปสู่บ้านเขายี่สารได้ค่ะ

  • หรือลงเรือ ชมบรรยากาศปากน้ำแม่กลอง ทางทะเล โดยลงเรือโดยสารที่ท่าเรือวัดหลวงพ่อบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ล่องเรือดูภูมิประเทศสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ออกสู่ปากอ่าวแม่กลอง แล้วล่องเข้าสู่คลองยี่สาร ชมวิถีชีวิตชาวประมง ป่าชายเลน ตลอดคลองขุดยี่สาร จนเข้าถึงหมู่บ้านเขายี่สารค่ะ

แต่วันนี้  Travel  Choice  อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว   เลือกที่จะไปวัดเขายี่สารทางเรือ เมย์เลือกลงเรือที่ท่าเรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร  หรือวัดหลวงพ่อบ้านแหลม  สมุทรสงครามแห่งนี้ค่ะ

และจากที่เมย์  ได้ถามคุณป้าเก็บค่าโดยสารประจำท่าเรือวัดเพชรสมุทร  คุณป้าได้ให้ข้อมูลมาใหม่ค่ะ  จากท่าเรือวัดเพชรสมุทรไปเขายี่สาร ไม่บริการมานานแล้วล่ะค่ะ  ฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่หาข้อมูลการท่องเที่ยว  ทางอินเตอร์เน็ต  ต้องเตรียมตัว  เตรียมใจกับการเดินทางท่องเที่ยวที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

                                                                                                                    

 

เมื่อเริ่มลงเรือจากบางตะบูนไปยี่สาร   เราได้พบกับ การดำรงชีวิตของชาวบางตะบูน ลุงบอกว่าอาชีพของคนแถวนี้คือการทำ ฟาร์มหอยแครง หอยแมลงภู่  ฟาร์มปู ฟาร์มกุ้ง และปลากุเลา  ขณะที่เรากำลังล่องเรือก็ได้พบกับ การลากอวนเก็บหอยแครง  ลุงบอกว่า การเก็บหอยแครง  จะลากอวนสลับวนไปมาอย่างนี้   โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในการเก็บหอยคะ   ขณะล่องเรือ  เราก็จะเห็นเสาที่ปักกันไว้เป็นแนว  ลุงเปลวบอกว่าเป็นการกั้นอาณาเขต  เพื่อให้รู้ว่าเขตนี้เป็นฟาร์มของใคร  เจ้าบ้านกลางน้ำที่เห็นกันนั่นคือ กระเตงค่ะ  ชาวบ้านใช้เป็นที่พักในการเฝ้าฟาร์มของตัวเองและจะพักในช่วงเวลากลางคืน  เพื่อกันการขโมย กุ้งหอยปูปลา  ที่ได้เลี้ยงไว้  พอรุ่งเช้าชาวบ้านก็จะกลับเข้าบ้านพักของตัวเอง  ส่วนเวลาน้ำขึ้นน้ำลงในช่วงนี้  น้ำจะขึ้นเวลา ตี 1 และลงเวลา  2  โมงเช้า  ของทุกวัน                                                                                                                    

ที่มาของคำว่ากระเตงนั้นลุงบอกว่า  เมื่อทะเลมีคลื่นและลมแรง กระท่อมที่ปลูกไว้ในลักษณะชั่วคราวก็จะมี  อาการโยกเยกชาวทะเลเรียกอาการดังกล่าวว่ากระเตง จึงเป็นที่มาของ กระเตงกลางทะเล สมัยก่อนเสาของกระเตงจะเป็นเสาไม้ แต่สมัยนี้เพื่อความมั่งคงของกระเตง ก็ใช้เสาปูนแทน

ล่องเรือไม่นานเราก็จะพบกับ  ทุ่นไฟบอกร่องน้ำค่ะ  ประโยชน์ของเจ้าทุ่นไฟก็คือ เพื่อให้เรือแล่นเข้าฝั่งได้อย่างถูกต้องโดยจะมีทุ่นไฟสีแดง ตอนกลางคืนจะมีไฟกะพริบสีแดง หากเรือกำลังแล่นจากทะเลกลับเข้าหาฝั่ง จะต้องแล่นโดยให้ทุ่นไฟแดงอยู่ทางซ้ายมือ  นอกจากนี้จะมีทุ่นไฟเขียว และทุ่นไฟเหลือง (หรือไฟขาว) ซึ่งทุ่นไฟเขียวจะอยู่ฝั่งตรงข้ามทุ่นไฟแดง ส่วน ทุ่นไฟเหลืองนั้น จะอยู่ปลายร่องน้ำ และเป็นตัวที่บอกเรือว่าหากแล่นออกจากฝั่งสู่ทะเลแล้ว เมื่อพ้นทุ่นไฟเหลืองไป แสดงว่าเรือได้แล่นพ้นร่องน้ำ สามารถแล่นไปทางไหนก็ได้                                                                                                                  

ขวามือของเราก็คือ ป่าโกงกางและต้นตะบูนค่ะ ที่มาของคำว่าตะบูน  ถูกตั้งชื่อขึ้นตามต้นไม้ชายเลนชนิดหนึ่ง ชื่อ “ตะบูน” หรือ “กระบูน” ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่นี้  โดยสภาพทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลสภาพดินเป็นดินเลน

                                                                                                                 

นั่งเรือไปเรื่อย ๆ เราก็จะได้พบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านบางตะบูน ความเป็นอยู่ที่สงบ  บ้านเรือนติดกับแม่น้ำ ใช้ชีวิตกันอย่างเรียบง่ายโดยยึดอาชีพประมงเป็นหลัก

 

CONTENT 2 

                                                                                                               

เมื่อถึงสามแยกของแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่าทางสามแพร่ง  โดยจะแยกออกกันเป็น 3 เส้นทาง ทางซ้ายไปเพชรบุรี  ขวามือไปยี่สาร  อัมพวา  และจากเส้นทางที่เรามาไปบางตะบูน  โดยเราต้องไปทางขวาของแม่น้ำซึ่งมีชื่อว่า  คลองขุด

 

 

                                                                                                                   

ที่มาของคำว่า คลองขุด เกิดขึ้นจากการขุดคลองกันเองของชาวบ้านที่สมัยก่อนสามารถก้าวกระโดดจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งได้โดยไม่ต้องใช้เรือ แต่ครั้นกาลเวลาผ่านไป  น้ำเริ่มกัดเซาะฝั่งจึงกลายเป็นคลองที่ใหญ่ขึ้น  เรือลำใหญ่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้

                                                                                                                  

ลุงเปลวบอกว่า  ก่อนจะเข้าสู่เขตยี่สาร อำเภออัมพวา เราจะสังเกตการสิ้นสุด อำเภอบางตะบูน ได้จาก บ้านสีครีมหลังใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านกำนันเก่า

 

ขณะที่เรากำลังจะเข้าเขตเขายี่สาร  เราก็จะพบกับ การทำโพงพาง ซึ่งเป็นเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่มีมาช้านานแล้ว ลักษณะเป็นเหมือนถุงชงกาแฟในสมัยโบราณ ที่ปากถุงกว้าง ก้นถุงเล็ก ตัวถุงทำจากอวนหรือไนลอนจะใช้กางขวางแม่น้ำหรือลำคลอง โดยส่วนใหญ่จะกาง 3 ใน 4 ส่วนของลำน้ำ เพื่อให้เรือสามารถสัญจรไปมาได้ แต่ในขณะเดียวกันลุงก็บอกว่า การทำโพงพางในบางตะบูน  ตอนนี้ได้โดนรื้อถอนออกไปหมดแล้ว เนื่องจากได้มีการประกาศว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายการจราจรทางน้ำ กางกั้นขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก และส่งผลให้สัตว์น้ำวัยอ่อนสูญพันธุ์ ซึ่งประกาศดังกล่าวทำให้ผู้ที่ทำอาชีพโพงพางได้รับความเดือดร้อน

ในขณะที่ฝั่งยี่สาร ยังยืนยันสิทธิ รักษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่  ของตนในการทำมาหากิน ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน  แล้วตอนนี้เราก็ได้เดินทางมาถึง เขายี่สาร อ.อัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามกันแล้วค่ะ  ลุงได้จอดเรือเทียบท่าวัดเขายี่สาร ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของการล่องเรือ  แต่เป็นจุดเริ่มต้น  ของการค้นหา เรื่องราว ทางประวัติ   ศาสาตร์และวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้  ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และความน่าสนใจ